ค่าสายตากลับมาหลังทำเลสิก (ATL017)

ค่าสายตากลับมาหลังทำเลสิก (ATL017)

ค่าสายตากลับมาสั้นหรือกลับมาเอียงหลังทำเลสิก

            ส่วนใหญ่หลังจากทำเลสิกแล้วค่าสายตาที่ผิดปกติมักจะหายไปจนหมด หรือเกือบทั้งหมด แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่า มีผู้ป่วยหลายคนอาจจะกลับมามีปัญหาค่าสายตาผิดปกติได้อีกครั้ง

ขั้นตอนการทำเลสิก (LASIK)

            การทำเลสิกจะต้องผ่านการพิจารณาของจักษุแพทย์ก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยจักษุแพทย์จะพิจารณาจากหลายสาเหตุ เช่น อายุ ความหนาของกระจกตาเพียงพอกับค่าสายตาที่จะแก้ไขหรือไม่ ไม่มีโรคทางกระจกตา เช่น กระจกตาโป่งพอง กระจกตาย้วย จอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนการทำเลสิกมีดังนี้

  1. การแยกชั้นกระจกตา และทำการเปิดผิวกระจกตาขึ้นมาเพื่อที่จะทำการยิงเลเซอร์ในขั้นตอนต่อไป

 

 

 

 

 

  1. การยิงเลเซอร์ลงไปในชั้น Stroma ของกระจกตา เพื่อทำการปรับเปลี่ยนความโค้งตามค่าสายตาที่ได้คำนวนไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้กระจกตาบางลง

 

 

 

 

 

  1. หลังจากยิงเลเซอร์เพื่อปรับเปลี่ยนความโค้งกระจกตาเรียบร้อยแล้ว จักษุแพทย์จะนำผิวของกระจกตาที่เปิดค้างไว้กลับมาไว้ในตำแหน่งเดิม โดยจะครอบอยู่เหนือบริเวณที่ทำการยิงเลเซอร์พอดี

 

 

 

 

 

ที่มา : https://eent.co.th/lasik/meaning/

การทำเลสิก (LASIK) สามารถทำได้กี่ครั้ง?

การทำเลสิกขึ้นอยู่กับความหนาของกระจกตา หากคนไข้ที่ทำเลสิกครั้งแรกแล้วกลับมามีปัญหาเรื่อง ค่าสายตาผิดปกติอีก จักษุแพทย์จะพิจารณาความหนากระจกตาของคนไข้ที่เหลือจากการทำเลสิกครั้งแรก หากความหนาของกระจกตายังเหลือหนาพอ คนไข้อาจจะสามารถทำเลสิกซ้ำอีกครั้งได้ แต่หากคนไข้มีกระจกตาที่บางลงมากจนไม่สามารถทำเลสิกซ้ำได้ อาจจะแก้ไขปัญหาค่าสายตาผิดปกติด้วยวิธีอื่น เช่น

  1. การใส่แว่นสายตา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ แต่ส่วนใหญ่คนไข้ที่เลือกทำเลสิกเนื่องจากไม่ชอบใส่แว่นสายตา โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่มีค่าสายตาเยอะ เนื่องจากเลนส์แว่นตาจะมีขนาดหนาและหนัก
  2. การใส่คอนแทคเลนส์นิ่มทั่วไปตามท้องตลาด อาจจะใส่ได้ในคนที่รูปร่างของกระจกตาไม่เปลี่ยนแปลงจนต่างจากคนปกติมากนัก ในผู้ที่ทำเลสิกแก้ไขค่าสายตาเยอะ รูปร่างของกระจกตาจะยิ่งต่างจากคนปกติมาก ทำให้การใส่คอนแทคเลนส์นิ่มทั่วไปจะใส่ได้ไม่พอดี ซึ่งสังเกตได้โดยที่ หากคนไข้ใส่แล้วมีอาการไม่สบายตา เลนส์เลื่อนไปเลื่อนมา ใส่คอนแทคเลนส์ค่าสายตาถูกต้องแต่มองเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ฯลฯ ดังนั้นการใส่คอนแทคเลนส์นิ่มจึงควรได้รับการตรวจตาโดยผู้เชี่ยวชาญว่าสามารถใส่ได้หรือไม่
  3. โอเคเลนส์ (Orthokeratology Lens) (Ortho – K Lens) นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไข้ที่ไม่ชอบใส่แว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากโอเคเลนส์เป็นคอนแทคเลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่มชนิดพิเศษที่ใส่เฉพาะเวลานอนเท่านั้น โดยเลนส์จะแก้ค่าสายตาที่เหลือจากการทำเลสิกได้ แต่การใส่โอเคเลนส์สำหรับผู้ที่เคยทำเลสิกมาแล้วนั้นจะยากกว่าคนปกติ เพราะการใส่โอเคเลนส์นั้นขึ้นอยู่กับความโค้งกระจกตา หากกระจกตามีความนูนมาก หรือแบนมาก มักจะทำให้ใส่ยากมากขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจใส่เลนส์กดตา จะต้องผ่านการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าการโอเคเลนส์จะมีโอกาสแก้ไขค่าสายตาผิดปกติที่เหลือได้เท่าใด
  4. คอนแทคเลนส์สั่งตัดชนิดต่างๆ เช่น Scleral Lens, Hybrid Lens, RGP Lens, Semi-hard Lens, GP Lens, เลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม, Custom Soft Lens  for post LASIK (เลนส์นิ่มสั่งตัดเฉพาะผู้ที่เคยทำเลสิก) ฯลฯ คอนแทคเลนส์ทุกชนิดที่กล่าวมาสามารถใช้กับผู้ที่เคยทำเลสิกมาได้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องผ่านการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านคอนแทคเลนส์เพื่อแนะนำคนไข้ว่าเหมาะสมกับคอนแทคเลนส์ชนิดใดมากที่สุด

 

 

 

 

 

ภาพแสดงให้เห็นถึงการใส่ Corneal Lens และย้อมสีด้วย Fluorescent เพื่อดูความพอดีของคอนแทคเลนส์ในคนไข้ที่ทำการผ่าตัดเลสิกมาแล้ว พบว่าบริเวณตรงกลางตาดำจะเห็นสีที่ย้อมได้ชัดเจนกว่าบริเวณอื่น (Central pooling)  เนื่องจากกระจกตาบริเวณตรงกลางจะแบนมากหลังทำเลสิก ทำให้มีช่องว่างระหว่างกระจกตาและเลนส์มากนั่นเอง ในกรณีนี้อาจจะต้องใช้คอนแทคเลนส์ที่มีผิวหลังแบบ Reverse Geometry เพื่อลดช่องว่างระหว่างกระจกตากับคอนแทคเลนส์

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1367048407000021

แชร์ไปที่ :

บทความอื่นๆ

ติดต่อนัดหมาย